การรักษามะเร็งตับ


มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับต้นๆของประเทศไทย และอัตราการมีชีวิตรอดต่ำ หากไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยมักมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน การรักษาที่ดีที่สุดคือการผ่าตัดเอาเนื้องอกออก แต่เนื่องจากมะเร็งตับมักเกิดร่วมกับภาวะตับอักเสบแรื้อรังและภาวะตับแข็ง ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่สามารถผ่าตัดได้แม้ว่าก้อนมีขนาดเล็กก็ตาม รังสีร่วมรักษา (Interventional Radiology, IR) เข้ามามีบทบาท ร่วมรักษามะเร็งตับกับแพทย์สาขาอื่นๆ ด้วยวิธีต่างๆดังนี้

1. Transarterial chemoembolization (TACE) หรือ transcatheter oily chemoembolization (TOCE)
แพทย์ทำการสวนหลอดเลือดเข้าทางขาหนีบ และสอดสายขนาดเล็กเข้าไปยังหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงตับ ถ้าหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็ก แพทย์จะสอดสายสวนขนาดเล็ก (microcatheter) เข้าไปเพื่อให้ปลายสายอยู่ใกล้ก้อนเนื้องอกมากที่สุด หลังจากนั้นจึงให้ยาเคมีบำบัดผสมกับลิปิโอดอล (lipiodol) เข้าไปสะสมในก้อนเนื้องอก และอุดหลอดเลือดด้วยเม็ดโฟมเจลาตินขนาดเล็ก (gelatin sponge particle) เพื่อให้ก้อนเนื้องอกขาดเลือด และฝ่อตายไปในที่สุด วิธีนี้มักจะทำหลายครั้ง ทุก 4-6 สัปดาห์ 

2. Percutaneous radiofrequency ablation (RFA) 
แพทย์จะทำการแทงเข็มผ่านผิวหนังเข้าไปในก้อนเนื้องอก โดยอาศัยอัลตร้าซาวนด์ช่วยดูระหว่างแทงเข็ม ทำให้สามารถแทงได้ตรงก้อน และหลบเลี่ยงการแทงโดนหลอดเลือดขนาดใหญ่ในตับได้ เข็มที่ใช้เป็นเข็มพิเศษ จะปล่อยคลื่นความถี่วิทยุเช่นเดียวกับคลื่นไมโครเวฟออกมา ทำให้รอบๆก้อนร้อนขึ้นและเนื้องอกจะตายและฝ่อไป 

3. Percutaneous ethanol ablation (PEI) หรือ direct ethanol ablation (DEI) 
ใช้แอลกอฮอล์ความเข็มข้นสูงฉีดเข้าไปในก้อนเนื้องอกผ่านเข็มที่แทงผ่านผิวหนังเข้าไป เพื่อทำลายก้อนเนื้อ วิธีนี้มีราคาถูกแต่แอลกอฮอล์จะซึมซ่านได้ไม่ดีถ้าก้อนเนื้อแน่นแข็ง
การรักษาในผู้ป่วยหนึ่งราย อาจใช้หลายวิธีร่วมกัน ผลการรักษาจะดีถ้าก้อนมีขนาดเล็ก ไม่ลุกลามเข้าหลอดเลือดหรืออวัยวะใกล้เคียง ไม่มีการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น และสภาพตับแข็งเป็นไม่มาก